explicitClick to confirm you are 18+

แนะนำหนังสือสามัญประจำบ้าน: “เขียนชนบทให้เป็นชาติ” โดย เก่งกิจ กิติเรียงลาภ

IdeooJun 27, 2020, 7:44:24 AM
thumb_up73thumb_downmore_vert

......วันนี้ผมเห็นคนพูดถึงหนังสือเรื่อง Siam Map ของ อ.ธงชัย วินิจกูล ไปแล้วหลายคน ซึ่งหนังสือเล่มนี้มีคุณูปการณ์อย่างมาก ในการทำให้เราเห็นว่าประเทศไทยก่อกำเนิดจากแผนที่ เป็นการเปลี่ยนสำนึกชาติที่ไร้รูปร่างเป็นนามธรรมให้มีเส้นขอบกรอบแดน อันเรียกว่า “ภูมิกายา” เมื่อนั้น จึงมีสยาม

........อย่างไรก็ตาม สำนึกของชาติจากแผนที่ ที่ธงชัยวิเคราะห์นั้นคล้ายกับแนวคิดเรื่อง “ชุมชนจินตกรรม” ที่เบเนดิกซ์ แอนเดอร์สัน เสนอไว้ เป็นการมองอย่างกว้างขวาง และยังไม่สามารถชดเชยช่วงเวลาที่หายไปของความเป็นสยาม มาสู่ความเป็นไทยสมัยใหม่ ที่มีรัชกาลที่ 9 เป็นภาพแทนความไทย เพราะช่องว่างระหว่างการกำเนิดสยามจากแผนที่มาจนถึงยุคคณะราษฎร สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ ความเป็นไทยไม่ได้มีบูรณภาพ หรือเอกภาพ คนในท้องถิ่นเช่นอีสาน ยังเรียกตัวเองว่า ลาว 

หรือพูดกันง่ายๆ คือ ในช่วงสงครามเย็น ความเป็นไทยแท้ๆ ในเขตขวานทอง กำเนิดมาอย่างไร ระหว่างสงครามเย็นนั้นชนชั้นนำไทยและอเมริกาทำอะไรกับ “ชุมชนจินตกรรม” บ้าง เพื่อปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมและลดทอนบางอย่างของความเป็นไทยเพื่อสร้างความเเข็งแกร่งให้กับรัฐอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน 

......

หลังจากอ่านหนังสือเรื่อง “เขียนชนบทให้เป็นชาติ” แม้ว่าจะพยามนำเสนอบทบาททางวิชาการของ “ชุมชนศึกษา” ทั้งมานุษยวิทยาและสังคมวิทยา ที่มีเจตนาแอบแฝงในการสร้างความมั่นคงของชาติ แต่สำหรับผมมองว่าหนังสือนี้นำเสนอประเด็นที่ค่อนข้างต่อยอดมาจาก Siam Map พอสมควร  หากสยามเกิดจากเส้นกรอบของเเผนที่ที่ฝรั่งเศสทำขึ้นและสยามยอมรับ ประเทศไทยใหม่ ก็เกิดจากการเติมเต็มรายละเอียดของแผนที่ให้ละเอียดที่สุดเท่าที่จะละเอียดได้

ภาระกิจของมหาดไทย และกลาโหมในสงครามเย็นที่กระทำกับแผนที่ใหม่ คือ การเดินเท้า ใช้ภาพถ่ายทางอากาศ และระบุพิกัดตำแหน่งของ “คน” และ “ชุมชน” ในทุกพื้นที่โดยละเอียด ทั้งนี้เพื่อประกอบยุทธศาสตร์แย่งชิงมวลชนจากคอมมิวนิสต์ ประกอบกับการทำบัตรประชาชนอย่างทั่วถึง ทำให้สำนึกประชากรในรายละเอียดของแผนที่ถูกเชื่อมให้เป็นปึกแผ่นในเขตแดนรูปขวาน 

เมื่อแผนที่ระบุว่า มีผู้คนอยู่ตรงไหน มี “หมู่บ้าน” อยู่ตรงไหนในชนบทไทยบ้าง การ “พัฒนา” ก็เข้าไป โดยเฉพาะโรงเรียนบ้าน ต่างๆ ที่เข้าไปปลูกฝังสำนึกชาติ ครูจำนวนมหาศาลถูกส่งลงชนบท โดยไม่ต้องผ่านการศึกษาอะไรที่เข้มงวดเพื่อสอนภาษาไทยและอุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ (อันนี้ผมวิเคราะห์ต่อเอง) 

ในทางเดียวกัน นักวิจัย นักมานุษยวิทยา และสายลับ CIA ศึกษาและเขียนข้อมูลชนบทของไทยเพื่อสร้างแผนพัฒนา ดังที่เกิดคำนิยามปัญหาในยุคนั้นว่า “ปัญหาภาคอีสาน” เพราะอีสานไม่เคยรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐจึงเอื้อให้คอมมิวนิสต์เผยแพร่อุดมการณืต่อต้านรัฐได้ง่าย ดังนั้นนักวิจัยและผู้เขียนวัฒนธรรม จึง “เดินเท้า” เข้าหมู่บ้าน นำปัญหา ระบุตัวผู้นำชุมชนที่อาจเป็นภัยเสนอต่อรัฐบาล แผนพัฒนาอีสาน เหนือ และภาคใต้ โดยเฉพาะการเกิดของกรมพัฒนาชุมชน และอีกหลายโครงการจึงกำเนิดขึ้นเพื่อพัฒนาชนบท

ในทางเดียวกันที่พัฒนาชนบท สำนึกความเป็นชาติก็กระจายไปจนแน่นเต็มรายละเอียดของผืนแผนที่ ประเทศไมยจึงไม่ใช่เเค่กรอบเส้นเขตเเดนและสำนึก แต่เป็นปฏิบัติการใต้สำนึกและการควบคุมสำนึกของรัฐอย่างบริบูรณ์ถึงทุกวันนี้

ทั้งหมดนี้ได้จากที่อ่าน จึงสรุปคร่าวๆ ในส่วนที่ตัวเองชอบก็วิเคราะห์เพิ่มเติมบ้าง และอยากชวนอ่านต่อ 

ใครชอบ siam map คงชอบเล่มนี้ไม่ยาก และคงมีมุมมองต่างจากผม หากใครอ่านแล้วและอยากแบ่งปันมุมมองที่ต่างออกไป คอมเม้นท์มาได้เลยฮะ อยากแลกเปลี่ยน