explicitClick to confirm you are 18+

บุญบั้งไฟ: การเมืองเรื่องประเพณีที่เปลี่ยนไป กับความหมายใหม่ที่ต้องเปลี่ยนแปลง

IdeooJun 28, 2020, 11:58:31 AM
thumb_up51thumb_downmore_vert

วันนี้มาอัพบล็อกด้วยเรื่องราวของ "บุญเดือนหก" หรือบุญบั้งไฟของชาวอีสาน ปีนี้อีสานเองก็โดนผลกระทบจากโควิด 19 ซึ่งตรงกับเดือนหกพอดิบพอดี จนหลายแห่งลด ละ เลิก การจัดงานตามประเพณีไป 

เราอยากมาชวนมอง "บุญบั้งไฟ" แบบใหม่ที่ไม่ใช่แค่ประเพณีหนึ่งในรอบปีเท่านั้น แต่บุญบั้งไฟยังเป็นพื้นที่แห่งการเมือง หรือการต่อรองทางอำนาจและช่วงชิงความหมาย จากผู้คนในท้องถิ่นด้วยกันจนถึงระดับรัฐ เพื่อจะให้เห็นว่า "การเมือง" ไม่ได้มีแค่เรื่องราวในสภาและท้องถนน แต่การเมืองซ่อนอยู่ในประเพณีด้วย 

บุญบั้งไฟเป็นประเพณีที่ถูกพูดถึงในฐานะการต่อรองทางวัฒนธรรมมากที่สุดประเพณีหนึ่ง เมื่อพิจารณาตามบริบทประวัติศาสตร์จะเห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงเชิงโลกทัศน์ หรือภูมิลักษณ์วัฒนธรรมของผู้คนในอีสานอย่างรุนแรงในทศวรรษหลังสงครามเย็นสิ้นสุด

........ในทศวรรษที่ 2530 บุญบั้งไฟ ถูกรัฐจัดให้เป็นประเพณีประจำจังหวัดยโสธร ภายใต้อำนาจปฏิบัติการนี้แม้จะเหมือนเป็นการสนับสนุนการท่องเที่ยว แต่กลับกันบุญบั้งไฟประจำจังหวัดหันมาหักล้างความหมายดั้งเดิมของบุญบั้งไฟสำหรับชาวอีสานหรือชาวลาวเป็นอย่างมาก เพราะบุญบั้งไฟเป็น "วัฒนธรรมร่วม" ของคนภูมิภาคอินโดจีนรวมฝั่งขวาของแม่น้ำโขงด้วย ดังนั้นเมือง หมู่บ้าน หรือชุมชนในเขตวัฒนธรรมเดียวกันล้วนถือปฏิบัติเรื่อยมาร่วมกันยาวนาน เพียงแต่จะไม่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ และการสื่อสารให้เป็นงานประจำจังหวัดจากรัฐ ต่างจากยโสธรในยุคแรกที่มีความชอบธรรมในการสถาปนาบุญบั้งไฟขึ้นเป็นอัตลักษณ์ของเมืองด้วยทุนและอำนาจรัฐสนับสนุน

........หลังจากผ่านไป 30 ปี บุญบั้งไฟยโสธรเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง เรียกได้ว่าเป็นผลพวงความสำเร็จของ ททท. และหน่วยงานรัฐอื่นๆ ในการ "ขาย" วัฒนธรรม หรือ "เปลี่ยน" วัฒนธรรมให้เป็นสินค้า สิ่งที่เกิดตามมาก็คือ ท้องถิ่นอีสานแต่ละเเห่งซึ่งมีบุญบั้งไฟเป็นรากฐานทางวัฒนธรรมเหมือนกับยโสธร ก็เล็งเห็นว่าบุญบั้งไฟนั้นเป็นสินค้าที่ดีเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวและสร้างความรื่นเริงได้อย่างดี เพราะยโสธรทำให้เห็นแล้ว ดังนั้นจึงต้องการจะเปลี่ยนวัฒนธรรมตนให้มีจุดขายเช่นเดียวกัน "การต่อรองเชิงความหมาย" หรือ Negotiation of Meaning จึงเกิดขึ้น

........การต่อรองเชิงความหมาย คือกระบวนการที่กลุ่มคน รัฐ หรือผู้มีอำนาจบางกลุ่มได้สร้างวาทกรรมหรือความหมายกำหนด "สิ่งหนึ่ง" (Cultural Things) ให้เป็นของตน (หากนิยามว่าวัฒนธรรมคือความหมายและสัญลักษณะ ตามแนวนักมานุษยวิทยายุคใหม่อย่าง คลิฟฟอร์ด เกียรซ) กลุ่มคนอีกกลุ่มหนึ่งที่รู้สึกว่า "สิ่ง" นั้น ก็เป็นของกลุ่มตนเช่นกัน การต่อรองทางอำนาจจึงเกิดขึ้น เพราะกลุ่มหลังนี้ก็จะสร้างความหมายใหม่ หรือสร้างวาทกรรมตอบโต้เพื่อแย่งชิงและยึดกุมพื้นที่ความเป็นเจ้าของของ "สิ่ง" นั้น 

......ดังนั้นการต่อรองเชิงความหมายของบุญบั้งไฟ จึงเป็นเรื่องที่ บุญบั้งไฟถูกอำนาจกำหนดให้ชาวยโสธรถือครองความหมายและความเป็นเจ้าของผ่านอำนาจที่เข้มแข็งของรัฐ ทำให้สำนึกของคนทั่วไปมองว่าบุญบั้งไฟคือของยโสธร ลองนึกง่ายๆ หากย้อนไปเมื่อ 10 -20 ปีก่อน หากคุณจะแนะนำฝรั่งหรือเพื่อนว่าถ้าจะไปเที่ยวบุญบั้งไฟ เชื่อได้เลยว่าชื่อเเรกที่ทุกคนจะเอ่ย คือ "ไป ยโสธรสิยู" ดังนั้นแล้วท้องถิ่นอื่นๆ จะช่วงชิงความหมายนี้จากพลังการอธิบายความหมายของรัฐอย่างไร?

.........การช่วงชิงหรือต่อรองความหมายทางวัฒนธรรมนี้ ถูกอธิบายในการศึกษาของ ปฐม หงษ์สุวรรณ (2554) จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ปฐมอธิบายว่า "ท้องถิ่นอีสานอื่นๆ" ได้ทำการ "ประดิษฐ์ประเพณีใหม่" โดยใช้วัตถุดิบเดิมดั้งเดิม ตามแนวคิดเรื่อง invented tradition ของ Eric hobsbawm (1983) นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษ 

.....วัตถุดิบทางวัฒนธรรมที่ว่านี้ คือ ท้องถิ่นต่างๆ จะใช้ "ความดั้งเดิม" ของตำนานที่มีร่วมกัน ความเก่าแก่โบราณ หรือความเป็นอีสาน มาสร้างประเพณีใหม่ผ่าน Concept ของงานบุญบั้งไฟยุคใหม่ ซึ่งสะท้อนให้เราเห็นได้จาก "ชื่อ" ของงานบุญนั้นๆ เลยทีเดียว 

ตัวอย่างเช่น

งาน "มาเบิ่งบั้งไฟล้านบุญบั้งไฟโบราณอุบล" 

เห็นไหมครับ "บั้งไฟโบราณ" การใช้คำว่า "โบราณ" เพื่อแสดงออกต่อผู้คนว่าอะไรที่มันโบราณมันมีความจริงแท้กว่า ประมาณว่า "ของยโสน่ะหรือปลอมมาก ทำเพื่อเที่ยวแน่ๆ ของอุบลสิของโบราณของแม้" (อารมณ์ประมาณนี้) ความโบราณจึงถูกนำมาต่อรองกับวาทกรรมบุญบั้งไฟยโสธร

..........อีกวิธีที่ใช้ในการช่วงชิงพื้นที่ของความหมาย คือ การสร้างอัตลักษณ์ให้กับงานบุญบั้งไฟเสียใหม่ ตัวอย่างเช่น 

 "บุญบั้งไฟสิบล้าน อ.พนมไพร จ.ร้อยเอ็ด" หรือ "บุญบั้งไฟ 2 กือ" (ปกติบั้งไฟอัดดินประสิวน้ำหนักหมื่น แสน ล้าน กือ ตามลำดับ โดยที่มาตราลาวโบราณถือว่า ๑๐ ชั่งเป็นหมื่น ๑๐ หมื่นเป็นแสน ๑๐ แสนเป็นล้าน ๑๐ ล้านเป็นโกฏิ ๑๐ โกฏิเป็นหนึ่งกือ) 

.......วิธีใหม่นี้ทำเพื่อสร้างความ exotic หรือสร้างความแปลกให้เป็นสีสันไปเลย ก็เพื่อให้ต่างจาก ประเพณีบุญบั้งไฟยโสธร พูดภาษาปัจจุบันก็คือสร้างแบรนด์เพื่อขายสินค้าวัฒนธรรมอีสานแบบใหม่ เพื่อต่อรองกับประเพณีกระแสหลักที่ยโสธรที่จำเจมากว่า 30 ปี

เห็นไหมครับ ท้องถิ่นอื่นใช้การเมืองเรื่องความหมาย 2 แบบ คือ 1)แบบดั้งเดิม 2)แบบ Exotic ให้ใหม่ไปเลย แต่ทั้งนี้ล้วนเป็นการช่วงชิงจุดยืนบนพื้นที่ของบุญบั้งไฟซึ่งอดีตกาลนานมาแล้วทุกพื้นที่มีร่วมกัน 

........อย่างไรก็ตาม การศึกษาลำดับพิธีกรรมของบุญบั้งไฟยโสธรที่ละขั้น โดยปฐม หงษ์สุวรรณ ยังทำให้เห็นว่าท้องถิ่นยโสธรเองก็ปรับประเพณีตนให้สามารถต่อรองและยัง "ขายได้" เพื่อแข่งกับท้องถิ่นอื่นๆ เช่น ยโสจัด "บั้งไฟนานาชาติ" ที่จัดร่วมกับญี่ปุ่น ซึ่งสร้างความโดดเด่นของประเพณีให้ยิ่งกว่าความโบราณ หรือ ความExotic ไปอีก

......การเมืองเรื่องประเพณี จึงเป็นธรรมชาติและเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก เพราะประเพณีหรือพิธีกรรมคือสิ่งที่เชื่อมโยงมวลชน การต่อรองกันอย่างเผ็ดร้อนนี้แสดงให้เห็นว่าประเพณีมี "พลวัต" มีการพัฒนาให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น สุดท้ายที่อยากฝากไว้ คือ "ประเพณี" จึงไม่ใช่สิ่งที่เป็นของแท้และดั้งเดิม หากแต่ปรับเพื่อตอบสนองความต้องการทางสังคมมาตลอดประวัติศาสตร์ บุญบั้งไฟ คือ ตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้

..........แม้ประเพณีไม่ใช่ของดั้งเดิมในตัวมัน แต่ประเพณีใหม่ ล้วนประดิษฐ์สร้างจากวัตถุดิบแห่งอดีตที่คนมีร่วมกันแล้วต่อยอดมันขึ้นมา เพื่อเชื่อมโยงเราเข้ากับโลกเก่าและใหม่ เชื่อมโยงเราเข้ากับผู้คนในสังคมตามหน้าที่มันเสมอ นี่คือหน้าที่และคุณูปการณ์ของประเพณีที่ปรับเปลี่ยนตามยุคสมัย ม่เช่นนั้นประเพณีอะไรที่มันไม่ปรับ มันก็ไม่มีประโยชน์ แล้วมันก็จะตายและหายไปจากโลกใบนี้