[ภาพปก: สรรพสิ่งในโลกทัศน์ของไทหลั่งไหลออกมาจากน้ำเต้า ยกเว้นผุ้ปกครองที่มาจากเเถน หรือรูปหน้าคนที่อยู่บนฟ้า วาดโดย สุรเดช แก้วท่าไม้ อยู่ในห้องจัดแสดงนิทรรศการถาวรชาติพันธุ์วิทยาทางโบราณคดี ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ตลิ่งชัน กรุงเทพฯ]
บทที่แล้วเราพูดถึงภูมิกายาแบบ "โซเมีย" เพื่อแสดงให้เห็นว่าในพื้นที่มวลเขาสูงของอุษาคเนย์และจีนใต้อุดมไปด้วยชาติพันธุ์จำนวนมากซึ่งเคลื่อนย้ายกันไปตามหุบเขาและทุ่งราบของลำน้ำสำคัญ ซึ่งในที่นี้เราจะเน้นย้ำกลุ่มคนที่พูดภาษาไท-กะได เป็นหลัก และเมื่อมาถึงทนี้เราจะโฟกัสให้แคบลงเหลือเพียงกลุ่มไท โดยอาศัยเครื่องมือทางตำนานที่ง่ายที่สุดคือตำนานการเกิดมนุษย์
...................................................................................................................
โซเมียเเบบง่าย ดูใน https://www.minds.com/ideoo/blog/ep-1-zomia-1126760797744398336?referrer=ideoo
...................................................................................................................
นักมานุษยวิทยาและนักคติชนวิทยา มองว่าการรวมกลุ่มของผู้คนว่าเป็นกลุ่มเดียวกันต่างจากกลุ่มอื่นหรือเผ่าอื่น (Ethnicity) คือการสร้าง “อัตลักษณ์ชาติพันธุ์” หรือ Ethnic Identity ขึ้นมา ในสังคมดั้งเดิมเราศึกษาได้ด้วยสิ่งที่ปรากฏได้แก่ สีผิว ภาษา เครื่องแต่งกาย ประเพณี อาหาร ฯลฯ และสิ่งที่มองไม่เห็นคือ ระบบความเชื่อ ระบบเครือญาติ อุดมการณ์ ลัทธิศาสนา (เทพ/ผี) และสิ่งสำคัญที่ช่วยให้นักมานุษยวิทยามองเห็นสิ่งที่ไม่ปรากฏแก่สายตา คือ เรื่องเล่าที่มีร่วมกัน เพราะหากชนกลุ่มใดพัฒนาตำนานเรื่องเราในทางเดียวกันหมายความว่าสืบบรรพบุรุษร่วม หรือมีปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มและหยิบโยงเล่าเรื่องตำนานเหล่านั้นมาอธิบายความเป็นจริงรอบตัว (Mythos)
................กรณีของเราคือ คนไท เล่าเรื่องอะไรร่วมกัน?
คำถามนี้ง่ายมาก เมื่อเรานึกถึงเรื่องเล่าหรือตำนานทั่วโลกที่พยายามอธิบายธรรมชาติว่า “เรา” เกิดมาอย่างไร ทั้งตำนานกรีก สแกนดิเนเวีย ยูดาย จีน ญี่ปุ่น ตั้งคำถามแล้วสร้างคำอธิบายว่า “เราเกิดมาจากอะไร” ทั้งนั้น ดังนั้นตำนานการสร้างโลกและกำเนิดมนุษย์แทบจะเป็นสิ่งแรกที่มนุษย์เริ่มลืมตาตื่นแหงนมองฟ้าแล้วตั้งคำถามอภิปรัชญานี้ และแต่ละกลุ่มก็สอยลุกหลานของตนด้วยหลักการอธิบาย (Mythos) มาต่างกัน
................แล้วสำหรับคนไท โลกและมนุษย์กำเนิดอย่างไร?
อาจารย์ศิราพร ณ ถลาง นักมานุษยวิทยาสายคติชนของไทยได้บอกว่า ตำนานการสร้างโลกของคนไท เท่าที่รวบรวมได้จากลายลักษณ์อักษร และที่ได้จากการบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ ในแคว้นอัสสัมของอินเดีย สิบสองปันนาของจีน เชียงตุง รัฐฉานในพม่า ล้านช้าง ประเทศลาว เรื่อยมาถึงล้านนา และอีสานของประเทศไทย มีมากกว่า 50 สำนวน (ใครสนใจอ่านเพิ่มเติมได้ใน ชนชาติไทยในนิทาน แลลอดแว่นคติชน และวรรณกรรมพื้นบ้าน) ที่นี้หากเราจะเอาทุสำนวนมาวิเคราะห์ก็คงต้องนัดผมกินกาแฟสัก 3 – 4 สัปดาห์เพื่อเล่าเรื่องนี้เลยทีเดียวครับ
วิธีการวิเคราะห์ตำนานใช้วิธีแบบลดทอนรายละเอียด หรือการวิเคราะห์แบบโครงสร้างนิยมได้ นักมานุษยวิทยาสายโครงสร้สงนิยมฝร่งเศสอย่าง Claude Lévi-Strauss (ไม่ใช่ยีนส์ลีวายนะครับ อ่านว่า เลวี่-เสตร้าจ์)ได้ลองเอามาวิเคราะห์ตำนานกรีกอย่างเรื่อง Oedipus (ปมโอดิปุส พ่อฆ่าลูก แม่เอาลูกไปเก็บซ่อน แล้วลูกก็โตมาฆ่าพ่อ) ซึ่งลดรายละเอียดของตำนานลงเรื่องเพียงสั้นๆ ของโครงเรื่องเท่านั้น ผมจะลองวิเคราะห์กับตำนานของไทดู
ตำนานไทอาหม เรื่องน้ำเต้า แลงดอน (พระผู้เป็นเจ้า/ผีใหญ่) บันดาลให้น้ำท่วมโลก มีน้ำเต้าเกิดขึ้นในท้องวัวจุด แลงดอนสั่งลูกชายผ่าน้ำเต้า มีคนและสัตว์ต่างๆแตกออกมา แล้วแลงดอนก็ส่งหลาน คือขุนหลวง (พี่) ขุนลาย (น้อง) ไต่บันไดสวรรค์ลงมาปกครอง
ส่วนการสร้างโลกไทใหญ่ น้ำเต้าลอยมาชนหินแตก มีพี่ชายกับน้องสาวออกมา พี่ชายแต่งงานกับน้องสาว สืบลูกหลานมาถึงทุกวันนี้ อีกสำนวนคือ เริ่มด้วยไฟไหม้โลก แล้วน้ำก็ท่วมโลก กลิ่นดินหอมถึงชั้นฟ้า ชาวฟ้าเหาะลงมากินและกลับไปไม่ได้จึงจับกลุ่มกันเป็นคู่ผัวเมีย อยู่ต่อมาก็เกิดต้นข้าว ชาวฟ้าสืบลูกหลาน ขยับขยายถิ่นออกไปตั้งชุมชน
ตำนานไทลื้อ เล่าต่างไปเล็กน้อย ในปฐมกัปป์ไฟไหม้โลก และน้ำท่วมโลก ปู่ส่างสี ย่าส่าง-ไส้ ปั้นรูปคนหญิงคนชายเสกให้เป็นคน ปั้นรูปสัตว์ 12 ราศี เมื่อเกิดข้าวขึ้น ภูเขาคือดินเกิดจากการไถนาของปู่ลื้อเฮิง ย่าลื่อเฮิง ส่วนแม่น้ำ เป็นรอยไถของปู่ย่าสองคนนี้ ส่วนไทลื้อยูนนาน เล่าว่า ปู่สังกะสา ย่าสังกะสี...แผ่นดินโล่งเตียน ทะเลเวิ้งว้างว่างเปล่า จอมแถนฟ้าส่งปู่สังกะสา ย่าสังกะสี นำน้ำเต้าวิเศษลงมายังโลก ปู่ย่าทุบน้ำเต้าแตก เอาเมล็ดพืชโยนขึ้นฟ้าและหว่านบนดิน ร้อยปีต่อมา ปู่ย่าเอาดินเหนียวมาปั้นรูปคน ปู่ปั้นผู้ชาย ย่าปั้นผู้หญิง และให้จิตวิญญาณ ปู่ย่าปั้นรูปสัตว์ต่างๆและให้ชีวิต สอนให้ทำนา และหาอาหารการกิน
ตำนานลาว ผีหลวงหรือแถนสั่งให้ส่งข้าวปลาให้แถน คนทั้งหลายไม่ทำ แถนจึงให้น้ำท่วม ปู่ลางเซิง ขุนเค็ก ขุนคาน เอาไม้ทำแพ เอาลูกเมียไว้บนแพ แล้วหนีไปอยู่เมืองฟ้า ต่อมาแถนบันดาลให้น้ำแห้ง และส่งควายลงมาที่นาน้อยอ้อยหนูให้คนทำนา ต่อมาควายตาย เกิดมีน้ำเต้าปุ้ง (โผล่ขึ้นมา) ที่ซากควาย ปู่ลางเชิงเอาเหล็กมาจี้น้ำเต้าปุ้ง คนไหลออกมา 3 วัน 3 คืน เป็นคนชาติพันธุ์ต่างๆ ปู่ลางเชิงสอนให้คนทำนาทอผ้า ปู่ส่งท้าวบูฮมมาปกครอง
เมื่อถอดโครงเรื่องจะเห็นว่า ตำนานทั้งหมดมีสัญลักษณ์บางอย่างคล้ายกัน เช่น ผีหลวง/เทพสูงสุด/แถน น้ำเต้า ควาย ข้าว/นา น้ำท่วม อาจารย์ศิราพร แกก็แบ่งว่ามีประมาณนี้
A การพูดถึงสภาพโลก B การสร้างโลก สร้างมนุษย์คู่แรก C การเกิดลูกหลานของมนุษย์ D การสร้างสัตว์ E การกินง้วนดิน F กำเนิดข้าว การทำนา G น้ำเต้า กำเนิดชาติพันธุ์ต่างๆ H การตั้งบ้านเมือง การครองเมือง อาจารย์ย้ำว่าไม่ว่าจะอยู่ที่ใด แก่นของเรื่องตรงกัน เน้นเรื่องการกำเนิดมนุษย์ การสืบทอดลูกหลาน การตั้งบ้านตั้งเมือง ผนวกเอาเรื่องกำเนิดข้าว การทำไร่ทำนา อันเป็นแก่นชีวิตของคนไท เอาไว้ในตำนานการสร้างโลกด้วย
คงพอจะเห็นภาพคร่าวๆ แล้วว่า ในพื้นที่มวลเขาสูงหรือโซเมียในแถบเอเชียอาคเนย์ ตอนใต้ของจีน รวมถึงตอนบนของพม่าและอินเดีย มีคนกลุ่มหนึ่งที่บอกเล่าที่มาของตนด้วยโครงเรื่องเดียวกัน ไม่ได้หมายความว่าในดินแดนนี้ไม่มีชนกลุ่มอื่นอยู่นะ จากตำนานคร่าวๆ ที่ยกมาจึงพอพล็อตการกระจายของพวกเชื่อผีแถน น้ำเต้า ควาย และน้ำท่วมโลกได้ดังแผนที่นี้
............บทต่อไปเราจะพูดถึงเรื่องตำนานอีกครั้ง แต่เป็นตำนานที่แสดงให้เห็นการเดินทางของผู้คนสองสายด้วยกัน คือ สายตะวันตกที่ถือผีชื่อ “แลงดอน” มุ่งหน้าเข้าไปลุ่มน้ำพรหมบุตรในแคว้นอัสสัม กลุ่มถือผีแถนและผีฟ้าที่ไปตามลุ่มน้ำโขงและลุ่มน้ำแดงในเวียดนาม ว่าพวกเขาทำอะไรกับสังคมและพื้นที่แถบนี้บ้างและเจอใครบ้าง ปฏิสัมพันธ์อย่างไรบ้าง และจะยังผลต่อไปยังวัฒนธรรมในปัจจุบันอย่างไร